ย่านเยาวราช เป็นย่านการค้าของชาวจีนที่เราต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีทีเดียว หลายๆคนเคยไปเดินช้อปปิ้งมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่หลายคนอาจจะไม่เคยได้ไปยังสถานที่ที่เราควรจะไปเยือนเมื่อมาเยาวราช บทนี้จึงขอนำ 5 ที่เที่ยวต้องไปเยือนเมื่อไปเดินย่านเยาวราช กรุงเทพฯ มาฝากทุกคนกัน ใครอยากจะไปเดินเที่ยวที่ย่านเยาวราชกันแล้ว เราเดินทางไปที่ ย่านถนนเยาวราชด้วยกันเลย

- ศาลเจ้าแม่กวนอิม โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ
มูลนิธิเทียนฟ้า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2445 เป็นมูลนิธิแห่งแรกในประเทศไทย โดยการรวมตัวกันของกลุ่มชาวจีน 5 ภาษา เพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยที่ยากไร้ให้ได้รับการรักษาพยาบาล มีทั้งการรักษาแบบแผนปัจจุบันและแผนจีน
ภายในมูลนิธิแห่งนี้มีศาลรูปเคารพของเจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางประธานพร ประดิษฐานเป็นเทพเจ้าองค์ประธาน ผู้คนนิยมมาขอพรให้ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ให้มีสุขภาพแข็งแรง องค์ทำด้วยไม้จันทน์แกะสลัก รูปแบบศิลปะราชวงศ์ถัง แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของราชวงศ์ซ่งหรือเมื่อประมาณ 800–900 ปีที่ผ่านมา และในปี พ.ศ.2501 ได้ถูกอัญเชิญมาจากประเทศจีน ประดิษฐานอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน

- ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ
สร้างโดยชาวจีนแต้จิ๋วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ภายในวัดก่อสร้างด้วยศิลปะจีนแบบแต้จิ๋ว เสาเป็นรูปทรงเม็ดข้าวแบบปล่องตรงกลางนิดๆ พันรอบด้วยมังกรตัวยาว นอกจากนั้นยังตกแต่งสถานที่ด้วยวัตถุโบราณล้ำค่าหาดูได้ยาก
มีระฆังโบราณสำคัญใบหนึ่งสร้างตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง ของสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือกระถางธูปที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะแห่งนี้มีผู้คนเดินทางมาขอพรมากมาย โดยเฉพาะขอพรจากเทพเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะฮูหยิน และทหารเอกหอเฮียฮ้วง ซึ่งเป็นปรมาจารย์เรื่องตี้ลี่ฮวงจุ้ยและการทำนายทายทัก เหมาะสำหรับนักเดินทางและผู้ที่ต้องการที่พักอาศัย

- ร้านเอี๊ยะแซ ร้านกาแฟและขนมปังปิ้ง
ร้านเก่าแก่เปิดมายาวนานกว่า 80 ปี ย่านเยาวราช ในทุกๆวัน จะมีผู้สูงอายุมานั่งจิบกาแฟกันที่นี่ เหมือนเป็นที่พบปะสังสรรค์ โต๊ะและเก้าอี้ภายในร้านจะเป็นไม้สีเข้มดูแข็งแรงและเพิ่มมนต์ขลัง นับเป็นเสน่ห์ที่หาได้ยากมากในปัจจุบัน กาแฟของที่นี่มีสโลแกนว่า “คั่วสดๆ ชงใหม่ๆ วันต่อวัน”
ร้านเปิด-ปิดเวลา 05.00–20.00 น. ทุกวัน

- ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา
วงเวียนโอเดียน
วงเวียนโอเดียน ตั้งอยู่ตรงจุดตัดถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช และถนนมิตรภาพไทย-จีน วงเวียนแห่งนี้เดิมเป็นวงเวียนน้ำพุ สร้างขึ้นสมัยจอมพลประภาส จารุเสถียร ปัจจุบันปรับปรุงเป็นซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 จนเป็นสัญลักษณ์ของไชน่าทาวน์
ซุ้มประตูออกแบบโดยช่างชาวจีน ยอดหลังคาซุ้มประกอบด้วยมังกร 2 ตัว ชูตราสัญลักษณ์ “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542” และทองคำหนักบริสุทธิ์หนัก 99 บาท หุ้มพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. หมายถึง ชาวไทยเชื้อสายจีนที่เทิดทูนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไว้เหนือเกล้า
นอกจากนี้ใต้หลังคาซุ้มประตูยังเป็นแผ่นจารึกนามซุ้มประตูที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยจารึกเป็นภาษาไทยด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จารึกอักษรจีน “เซิ่ง โช่ว อู๋ เจียง” หมายถึง “ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” พร้อมนามาภิไธย “สิรินธร” โดยตั้งตระหง่าน งามสมเป็นประตูสู่ไชน่าทาวน์

- พิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งใจบอกเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และต่อมาได้สร้างความรุ่งเรืองบนถนนสายทองคำบนผืนแผ่นดินไทย โดยพยายามแสดงให้ผู้เข้าชมทราบถึงความรู้เบื้องต้นของชุมชนชาวจีนในสำเพ็งและเยาวราช จนกระทั่งกลายเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ภายในวัดไตรมิตรวิทยารามยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้ำค่าซึ่งต้องหาโอกาสมากราบไหว้ขอพร นั่นคือ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ หลวงพ่อทองคำ ซึ่งมีความงดงามและเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำสูงถึง 21.1 ล้านปอนด์
การเดินทาง
– ทางรถยนต์ : ถนนเส้นหลักของย่านก็คือถนนเยาวราช เริ่มต้นตั้งแต่ China Town Gate แล้วทอดตัวยาวข้ามคลองบางลำภูไปสิ้นสุดที่ถนนมหาไชย ถนนเยาวราชเป็นถนนเก่าแก่ที่มีช่องจราจรไม่ได้กว้างขวางมากนัก ยิ่งเมื่อเทียบกับปริมาณรถอันหนาแน่นตลอดทั้งวันแล้ว ก็ยิ่งดูเล็กคับแคบเข้าไปใหญ่ ดังนั้นการเดินทางด้วยรถยนต์ภายในย่าน อาจไม่ค่อยสะดวกมากนัก แต่หากจำเป็นต้องเข้าสู่พื้นที่ย่านจริง ๆ ก็ต้องทำใจก่อนว่ามีโอกาสสูงที่จะเจอรถติด เลือกเวลาให้เหมาะสมพร้อมมองหาเส้นทางสำรองเอาไว้ด้วย
– ทางพิเศษ : ทางพิเศษที่อยู่ใกล้พื้นที่ย่านมากที่สุด คือ ทางพิเศษศรีรัช หากต้องการใช้บริการ ให้วิ่งไปตามถนนเยาวราช แล้วเลี้ยวไปยังถนนเจริญกรุง เพื่อย้อนกลับมาทางหัวลำโพง ก่อนถึงรถไฟฟ้า MRT สถานีหัวลำโพงจะมีทางเบี่ยงซ้ายไปยังจุดขึ้น-ลงทางพิเศษนั้นได้
– รถเมล์ : บนถนนเส้นเยาวราชจะมีป้ายรถประจำทางคอยให้บริการอยู่ แต่จะเว้นช่วงห่างกันมากพอสมควร โดยรถเมล์สายสำคัญ ได้แก่
รถเมล์สาย 1 : ถนนตก-ท่าเตียน
รถเมล์สาย 4 : ท่าเรือคลองเตย-ท่าน้ำภาษีเจริญ
รถเมล์สาย 7 : สมุทรสาคร-หัวลำโพง
รถเมล์สาย 21 : วัดคู่สร้าง-จุฬาฯ
นี่ก็คือ 5 ที่เที่ยวต้องไปเยือนเมื่อไปเดินย่านเยาวราช กรุงเทพฯ ที่นำมาฝากกัน ใครที่อยากจะเดินทางไปเที่ยวที่ย่านเยาวราช ก็เดินทางไปตามช่องทางที่แนบไว้ให้ด้านบนกันได้เลย แล้วบทหน้าเรามาพบกับสถานที่ท่องเที่ยวที่จะไปสรรหามาฝากกันได้อีกในทุกสัปดาห์ จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนกันบ้าง เราต้องมาติดตามกันต่อ
สถานที่เที่ยว ที่น่าสนใจ ที่รวม ที่เที่ยว ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ไว้ที่นี่ทั้งหมด เที่ยวไปกับเรา tiewkanna.com สามารถติดตามทาง page Facebook กิน นอน เที่ยวไหน