ถ้าจะบอกว่าระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นนั้น ได้เคยมีการติดต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว หลายคนอาจจะนึกกันไม่ออกว่านานขนาดไหน เราก็เลยจะบอกว่าก็นานขนาดที่มีหมู่บ้านของชาวญี่ปุ่นที่มาก่อร่างสร้างตัว อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยากันเลยทีเดียว ซึ่งหมู่บ้านที่ว่านี้ตั้งอยู่ห่างจากวัดพนัญเชิงไปแค่ 1 กิโลเมตรเท่านั้น

หมู่บ้านญี่ปุ่น หรือ Japanese Village ได้ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1300 โดยตั้งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามกับหมู่บ้านโปรตุเกส ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายกับคนไทยในสมัยอยุธยา มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มพ่อค้าที่เข้ามาค้าขาย กลุ่มโรนินที่เข้ามาเป็นทหารอาสา และกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ และต้องการเดินทางออกจากญี่ปุ่นเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา
ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่นในสมัยนั้น คือ ยามาดะ นางามาซะ (Yamada Nagamasa) ได้เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม เขาจัดตั้งกองทหารอาสาญี่ปุ่น และได้มีส่วนช่วยปราบกบฎ ตลอดจนเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้าไทย-ญี่ปุ่น จนได้รับการแต่งตั้งเป็น ออกญาเสนาภิมุข ซึ่งภายหลังยังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชอีกด้วย

ปัจจุบันหมู่บ้านญี่ปุ่นแห่งนี้ได้รับการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น โดยสมาคมไทย – ญี่ปุ่น ร่วมมือกับนักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่น เพื่อรำลึกถึงชาวญี่ปุ่นผู้มีบทบาทสำคัญต่อกรุงศรีอยุธยา ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาด้วย
หมู่บ้านญี่ปุ่น ได้รับการปรับปรุงในปี พ.ศ.2529 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้เงินช่วยเหลือถึง 999 ล้านเยน หรือประมาณ 170 ล้านบาทไทยในเวลานั้น เนื่องในโอกาสที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ในปีพ.ศ.2530 รวมถึงเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 100 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น และหลังจากนั้นที่นี่ก็ได้รับการปรับปรุงต่อยอดเรื่อยมา เพื่อให้เป็นสถาบันวิจัย และพิพิธภัณฑสถานเกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยา
ไฮไลท์ของที่นี่ คือ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมโดยแต่งกายเป็นชาวญี่ปุ่นโบราณ โดยเสียค่าเข้าชมคนละ 50 บาท ส่วนใครที่อยากแต่งกายด้วยชุดยูคาตะ หรือชุดกิโมโน ที่นี่ก็มีชุดให้เช่าด้วย โดยด้านในจะมีมุมสวยๆ บรรยากาศญี่ปุ่นมากมายให้ได้เลือกถ่ายรูปกันอย่างจุใจ โดยเฉพาะโซนสวนญี่ปุ่นที่ออกแบบโดยนักออกแบบชาวญี่ปุ่นเอง

ภายในอาคาร ยังมีการจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของบุคคลที่มีชื่อเสียงในอดีต และคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักมากสำหรับคนไทยก็คือ มารี กีมาร์ (Marie Guimar) หรือ ท้าวทองกีบม้า ราชินีขนมไทยผู้มีเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น
สถานที่เที่ยว ที่น่าสนใจ ที่รวม ที่เที่ยว ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ไว้ที่นี่ทั้งหมด เที่ยวไปกับเรา tiewkanna.com สามารถติดตามทาง page Facebook กิน นอน เที่ยวไหน