พาไปเที่ยวชม พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน กรุงเทพฯ
พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน หรือ Jim Thompson House ตั้งอยู่ที่ท้ายซอยเกษมสันต์ 2 ซอยเล็กๆ ริมถนนพระราม 1 ไม่ไกลจาก สถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ เท่าไหร่ โดยเราสามารถเดินจากสถานีไปที่พิพิธภัณฑ์ได้เลย หรือ จะรอรถกอล์ฟรับ-ส่ง นักท่องเที่ยวจากปากซอยเกษมสันต์ 2 ไปยังพิพิธภัณฑ์ก็ได้
ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวของ จิม ทอมป์สัน ผู้ก่อตั้ง ร้านผ้าไหมไทย จิม ทอมป์สัน และเป็นผู้นำในการสร้างชื่อเสียงของผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ภายในบ้านจิมนั้น จะเป็นหมู่เรือนไทยเก่าแก่ 6 หลัง และรายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่อายุเฉียดร้อยปี รวมถึงยังมีทั้งบรรดาเฟิร์น มอส และบ่อน้ำ ให้ความรู้สึกชุ่มฉ่ำ ชุ่มชื้น จนแทบไม่น่าเชื่อว่า ความครึ้มเขียวเย็นนี้ จะอยู่ห่างจากถนนใหญ่ที่เต็มไปด้วยความจอแจ และเสียงอันอึกทึกเพียงแค่ไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้นเอง

ในบริเวณเรือนไทยจะเป็นส่วนของเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยจะมีไกด์ของทางพิพิธภัณฑ์ นำชมพิพิธภัณฑ์ และให้ข้อมูลทั้งแบบเวอร์ชั่นภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น) ทำให้เราสามารถเดินชมโซนต่างๆ ได้โดยง่าย และรู้เรื่องราวของพิพิธภัณฑ์เพิ่มเติมอย่างละเอียดนอกเหนือจากป้ายให้ข้อมูลอีกด้วย
จิม ทอมป์สัน ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีคือ เจมส์ แฮร์ริสัน วิลสัน ทอมป์สัน (James Harrison Wilson Thompson)
ในช่วงราวๆ ปี ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) เป็นช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 จิม ทอมป์สัน ได้ผันตัวเองจากงานด้านสถาปัตยกรรมที่นิวยอร์ก มาเป็นทหารอาสาร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจในประเทศไทย
แต่เป็นช่วงที่สงครามจบลงก่อน ทำให้จิม ทอมป์สันต้องพำนักอยู่ในประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าสถานียุทธศาสตร์ในกรุงเทพฯ และมีหน้าที่ฟื้นฟูสถานเอกอัครทูตสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) จิม ทอมป์สัน ได้ปลดประจำการจากกองทัพ และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย ระหว่างนั้นเขาได้เดินทางไปหลายที่ในภาคอีสาน และมีความสนใจอย่างมากๆ ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไหม และทอผ้าในครัวเรือน ที่มีความแตกต่างจากผ้าไหมที่ผลิตจากเครื่องจักร

จิม ทอมป์สัน จึงได้ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจ และได้นำตัวอย่างผ้าไหมแบบดั้งเดิมไปเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา จนได้มีการนำผ้าไหมไทยไปตัดเย็บ ออกแบบเป็นเสื้อผ้าไหมโดย
วาเลนทินา (Valentina) นักออกแบบเสื้อผ้าผู้มีชื่อเสียงของนิวยอร์ก และได้ขึ้นในนิตยสาร Vogue ในที่สุด ทำให้ธุรกิจผ้าไหมไทยเริ่มโด่งดังไปทั่วโลก
ระยะแรกที่จิม ทอมป์สัน ปักหลักอยู่ในประเทศไทย เขาพักอยู่ที่โรงแรมโอเรียลเต็ล และถัดมาได้เช่าบ้าน 2 หลังที่ละแวกศาลาแดงเอาไว้ แต่เนื่องจากภายหลังที่ของสะสมเพิ่มขึ้น ทำให้ จิม ทอมป์สัน ตัดสินใจที่จะสร้างบ้านขึ้นที่นี่ในที่สุด และกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
หมู่เรือนไทยภายในบ้านจิม ส่วนหนึ่งเป็นเรือนที่เดินทางไปเลือกเองจากจังหวัดอยุธยา เป็นบ้านไม้เก่าอายุเกินหนึ่งศตวรรษแล้วทั้งนั้น เมื่อถูกใจก็ติดต่อขอซื้อ และถอดเป็นชิ้นๆ นำเข้ากรุงเทพฯ เพื่อ จะมาดัดแปลงออกแบบบางส่วนตามความรู้เชิงสถาปัตย์ จนกลายมาเป็นหมู่เรือนไทยที่สวยงามแห่งนี้

พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมูลนิธิจิม ทอมป์สัน และยังได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2539 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย
ภายในเรือนประธาน หรือเรือนใหญ่ ที่เคยเป็นบ้านในสมัยที่ จิม ทอมป์สัน ยังพักอาศัยอยู่ที่นี่ ปัจจุบันปรับปรุง ซ่อมแซม และอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพคล้ายของเดิมที่สุด และนำของสะสมส่วนตัวของจิม ทอมป์สัน อันประเมินค่าไม่ได้มาจัดแสดงไว้ในห้องต่างๆ ของบางชิ้นเป็นของธรรมดาสามัญเมื่อ 100 ปีก่อน แต่เป็นของที่คนไทยอาจจะไม่ได้เก็บรักษาเอาไว้

ของสะสมของจิม ทอมป์สัน มีศิลปวัตถุจำพวกเครื่องกระเบื้องเคลือบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องกระเบื้องจีน คอลเลกชั่นนับแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง มาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่วนใหญ่เป็นเครื่องลายครามที่ส่งออกในสมัยราชวงศ์หมิง หลายชิ้นได้มาจากอยุธยาเป็นของที่ส่งมาจากเมืองจีนระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15-17
ช่องทางการติดต่อ
พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน กรุงเทพฯ
ที่อยู่: 6 ซ. เกษมสันต์ 2 แขวง วังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
เวลาทำการ: ทุกวัน เวลา 11.00-18.00 น.
โทรศัพท์: 02 216 7368
ผู้ก่อตั้ง: จิม ทอมป์สัน
ก่อตั้ง: พ.ศ. 2502
นี่ก็คือ พาไปเที่ยวชม พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน กรุงเทพฯ ที่นำมาฝากกัน ใครที่อยากจะไปเที่ยวชมที่นี่ ก็ให้ติดต่อไปตามช่องทางที่แนบไว้ให้ด้านบนกันได้เลย แล้วบทหน้าเรามาพบกันใหม่กับสถานที่ท่องเที่ยวที่จะไปสรรหามาฝากกันอีกได้ในทุกสัปดาห์ จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนกันบ้าง เราต้องมาติดตามกันต่อ
สถานที่เที่ยว ที่น่าสนใจ ที่รวม ที่เที่ยว ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ไว้ที่นี่ทั้งหมด เที่ยวไปกับเรา tiewkanna.com สามารถติดตามทาง page Facebook กิน นอน เที่ยวไหน